ทำความรู้จัก…โรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะส่วนที่ผลิตสารควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัว หรือที่เรียกว่า สารโดพามีน (Dopamine) เมื่อเซลล์สมองเสื่อมสภาพหรือถูกทำลายไป การสร้างสารโดพามีนจึงลดลง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็ง การเดินและการทรงตัวลำบาก โรคพาร์กินสัน มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ ส่วนมากจะพบตั้งแต่อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ป่วยหญิงมากกว่าผู้ป่วยชายเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น เพราะสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมอีกได้
อาการแสดงของโรคพาร์กินสัน
ในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแสดงของโรคพาร์กินสัน ออกมากน้อยแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น อายุ ระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อน โดยอาการที่แสดงออกมีดังนี้
• อาการสั่นที่แขนและมือ โดยมักมีอาการข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อน โดยต่อมาอาจมีการสั่นเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้างได้ แต่มักมีความรุนแรงของการสั่นไม่เท่ากัน อาการสั่นมักจะเป็นในช่วงที่อยู่ในท่าพักไม่มีกิจกรรมใดๆ
• อาการเคลื่อนไหวช้า เช่น การเดิน การแต่งตัว การทำกิจวัตรต่างๆ จะช้าลงอย่างชัดเจน ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเดิม
• อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มักเกิดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขน ขา ลำตัว
• อาการทรงตัวผิดปกติ เดินเซ ล้มได้ง่าย
• อาการทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล โมโหร้าย
• อาการความจำระยะสั้นไม่ค่อยดีในระยะต้น ความจำเสื่อมในระยะท้าย
• อาการท้องอืด ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้
• อาการการรับรส และรับรู้กลิ่นไม่ดี
• อาการมึนศีรษะเวลาลุกขึ้นเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง
• อาการพูดเสียงเบา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดเสียงเบา หรือเสียงอาจหายไปในลำคอ บางรายอาจมีอาการพูดรัวเร็ว ระดับเสียงในการพูดอยู่ในระดับเดียวกันตลอด และอาจมีน้ำลายสอออกมาคลออยู่ที่มุมปาก
• อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการสังเกตุอาการโดยรวม
การรักษาโรคพาร์กินสัน
แม้โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาสามารถควบคุมอาการ และไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น โดยการรักษาโรคพาร์กินสันมีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามความเหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละรายดังนี้
• การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรคยังเป็นการรักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองหลายระบบได้แก่ โดพามีน โคลีน อะดรีนาลีน ซีโรโทนิน และอื่น ๆ ดังนั้นยาที่ใช้ในปัจจุบันจะออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทต่างๆ เหล่านี้
• การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) เป็นวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่เคยได้รับการรักษาด้วยยา แต่มีอาการมากขึ้นจนการรักษาด้วยยาไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร
• การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง